วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ปราสาทเขาพระวิหาร





 ผู้ค้นพบปราสาทพระวิหารในสมัยปัจจุบันคือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระราชโอรสองค์ที่ 11 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงพบเมื่อปี พ.ศ. 2442 ขณะทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็น ข้าหลวงต่างพระองค์ เสด็จไปรับราชการที่มณฑลลาวกาว (อิสาน) ในสมัยรัชกาลที่ 5 และได้ทรงจารึกปี ร.ศ. ที่พบเป็นเลขไทย ตามด้วยพระนามไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดี เป็นข้อความว่า "๑๑๘ สรรพสิทธิ" ต่อมาเมื่อประเทศฝรั่งเศสเข้าครอบครองอินโดจีนได้ทำสนธิสัญญา พ.ศ. 2447 ในการปักปันเขตแดนกับราชอาณาจักรสยาม โดยมีความตามมาตรา 1 ของสนธิสัญญา ระบุให้ใช้สันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ซึ่งมีผลให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนไทย ต่อมาใน พ.ศ. 2451 ฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ฝ่ายเดียว ส่งมอบให้สยาม 50 ชุด แต่ละชุดมี 11 แผ่นและมีแผ่นหนึ่งคือ "แผ่นดงรัก" ที่ครอบคลุมพื้นที่ปราสาทพระวิหาร และไม่ได้ใช้แนวสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ทำให้ปราสาทพระวิหารในแผนที่อยู่ในดินแดนของกัมพูชา โดยที่รัฐบาลสยามในขณะนั้นไม่ได้รับรองหรือทักท้วงความถูกต้องของแผนที่ดังกล่าว
          ต่อมาในปี พ.ศ. 2483 ประเทศฝรั่งเศสแพ้สงครามต่อประเทศเยอรมัน ทำให้แสนยานุภาพทางทหารลดลง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ยื่นข้อเสนอเรียกร้องดินแดนที่เสียไปในสมัยรัชกาลที่ 5 คืนจากฝรั่งเศส ซึ่งฝรั่งเศสปฏิเสธและมีการเคลื่อนไหวทางทหาร ที่ทำให้เกิดสงครามพิพาทอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสขึ้นในปี พ.ศ. 2484 ประเทศไทยได้รับชัยชนะในการรบตลอด 22 วัน กระทั่งประเทศญี่ปุ่นที่เป็นมหาอำนาจในขณะนั้นเสนอตัวเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย และฝรั่งเศสได้ตกลงคืนจังหวัดไชยบุรี จำปาศักดิ์ เสียมราฐ และพระตะบองให้กับไทย ตาม อนุสัญญาโตเกียว ทำให้ปราสาทพระวิหารกลับมาอยู่ในดินแดนไทยอย่างสมบูรณ์ ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยประกาศเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร และต่อมาญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ประเทศไทยต้องรักษาสถานะตัวเองไม่ให้เป็นฝ่ายแพ้สงครามตามญี่ปุ่น และต้องการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ จึงตกลงคืนดินแดน 4 จังหวัดให้ฝรั่งเศส ทำให้ปราสาทพระวิหารกลับไปอยู่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 ฝรั่งเศสแพ้สงครามต่อเวียดนามที่เดียนเบียนฟู ต้องถอนทหารออกจากอินโดจีน ประเทศกัมพูชาได้รับเอกราชตามสนธิสัญญาเจนีวา และไทยได้ส่งทหารเข้าไปรักษาการบริเวณปราสาทพระวิหารอีกครั้ง
          ภายหลังกัมพูชาได้รับเอกราช เจ้านโรดมสีหนุ กษัตริย์กัมพูชาสละราชสมบัติเข้าสู่การเมือง ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และประกาศเรียกร้องให้ไทยคืนปราสาทพระวิหาร และไทยไม่ยอมรับ เจ้านโรดมประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501 และในปีต่อมา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2502 เจ้านโรดมสีหนุได้ฟ้องร้องต่อ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) หรือศาลโลก ให้ไทยคืนปราสาทพระวิหาร ฝ่ายไทยต่อสู้คดีโดยมีม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กับคณะรวม 13 คน เป็นทนายฝ่ายไทย และฝ่ายกัมพูชามีนายดีน แอจิสัน เนติบัณฑิตแห่งศาลสูงสุด อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เป็นหัวหน้าคณะ กับพวกอีกรวม 9 คน
          กระทั่งวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ได้ตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ด้วยเสียง 9 ต่อ 3 และในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 หลังจากศาลโลกตัดสินแล้ว 20 วัน รัฐบาลไทยโดย ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือไปยัง นายอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อประท้วงคำพิพากษาของศาลโลก และสงวนสิทธิที่ประเทศไทยจะเรียกร้องปราสาทพระวิหารกลับคืนในอนาคต
          หลังจากนั้นไม่นาน กัมพูชาเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นภายในประเทศ ปราสาทหินแห่งนี้เปิดให้สาธารณชนเข้าชมเป็นช่วงสั้นๆ ในปี พ.ศ. 2535 แต่ปีต่อมาก็ถูกเขมรแดงเข้าครอบครอง จากนั้นก็เปิดอีกครั้งจากฝั่งประเทศไทย เมื่อปลายปี พ.ศ. 2541
          และเมื่อ พ.ศ. 2546 กัมพูชาก็ได้ตัดถนนเข้าไปจนสำเร็จสมบูรณ์หลังจากรอคอยเป็นเวลาช้านาน แต่ก็มีการห้ามเข้าอยู่เป็นระยะโดยมิได้กำหนดล่วงหน้า

กรณีการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
          กัมพูชาได้เสนอให้ขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารให้เป็นมรดกโลกต่อองค์การยูเนสโก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 31 ณ เมืองไครสเชิร์ช นิวซีแลนด์ เมื่อ พ.ศ. 2550 แต่ไทยกับกัมพูชามีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ซึ่งฝ่ายไทยกล่าวว่าควรแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่เขตแดนทับซ้อนรอบปราสาทก่อนแล้วจึงค่อยเสนอ  จนกระทั่งใกล้ถึงการประชุมสมัยที่ 32 ที่แคนาดา ในปีถัดมา ก็ยังไม่ได้ข้อตกลงร่วมกัน  และถ้าหากเขาพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยอ้างอิงจากแผนที่ที่ฝรั่งเศสทำ จะทำให้ไทยต้องเสียดินแดนถอยร่นเข้ามาประมาณ 7.2 ตารางกิโลเมตร
          วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เคลื่อนขบวนไปชุมนุมหน้ากระทรวงการต่างประเทศเพื่อขับไล่นายนพดล ปัทมะ ให้ออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อยื่นหนังสือทวงถามกรณีข้อพิพาทเรื่องเขาพระวิหาร เนื่องจากไม่ยอมเปิดเผยแผนที่ทับซ้อนเขาพระวิหารให้กับประชาชนคนไทยได้รับรู้ หลังจากตกลงร่วมกับประเทศกัมพูชาไปก่อนหน้านี้นั้น
          เวลา 14.00 น. นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ ได้ลงนามยินยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ร่วมกับ นายอึง เซียน เอกอัครราชทูตกัมพูชา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
          วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2551 นายสุวัตร อภัยภักดิ์ นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ และ คณะ รวม 9 คน เป็นตัวแทนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรียุติการดำเนินการตามมติ ครม.ที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาสนับสนุนให้กัมพูชาจดทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ไปจนกว่าคดีจะเป็นที่สิ้นสุด
          วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2551 หม่อมหลวงวัลย์วิภา จรูญโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมนักวิชาการ เดินทางมาพบ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อรับมอบรายชื่อผู้คัดค้านการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งในส่วนของพันธมิตรฯ ได้มีการมอบรายชื่อให้กับทางสถาบันไทยคดีศึกษาไปแล้ว 6,000 รายชื่อ และวันที่ 27 มิถุนายน มอบให้อีก 3,488 รายชื่อ ซึ่งล่าสุดตัวเลขของผู้ที่คัดค้านการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารมีทั้งหมด 33,400 รายชื่อ ภายหลังจากที่มีการรับมอบรายชื่อจากแกนนำกลุ่มพันธมิตรแล้ว ม.ล.วัลวิภา ยังได้ไปยื่นหนังสือคัดค้านเรื่องนี้ ต่อนายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย
          วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรียุติการดำเนินการตามมติ ครม.ที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาสนับสนุนให้กัมพูชาจดทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ไปจนกว่าคดีจะเป็นที่สิ้นสุด หรือ ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ศาลได้ไต่สวนฉุกเฉินคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน และใช้เวลาไต่สวนกว่า 10 ชั่วโมง จนมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อเวลา 02.00 น. ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งดังนี้
1.            ให้เพิกถอนการกระทำของนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่เสนอร่างคำแถลงการณ์ร่วม ฯ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและมีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ
2.            เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ที่มีมติเห็นชอบร่างคำแถลงการณ์ร่วม ฯ โดยมอบหมายให้นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในแถลงการณ์ร่วม ฯ
3.            ให้เพิกถอนการลงนามในคำแถลงการณ์ร่วม ฯ ของนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ลงนามเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551
4.            มีคำสั่งให้นายนพดล ปัทมะ ยุติความผูกพันตามคำแถลงการณ์ร่วม ฯ ต่อประเทศกัมพูชาและองค์การยูเนสโก
ลำดับเหตุการณ์
  • พ.ศ. 2442 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ค้นพบปราสาทพระวิหาร
  • พ.ศ. 2447 ประเทศฝรั่งเศสเข้าครอบครองอินโดจีน ได้ทำสนธิสัญญาปักปันเขตแดน ระบุให้ใช้สันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ซึ่งมีผลให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนไทย
  • พ.ศ. 2451 ฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ฝ่ายเดียว ส่งมอบให้ไทย มีแผ่นหนึ่งคือ "แผ่นดงรัก" ที่ครอบคลุมพื้นที่ปราสาทพระวิหาร และไม่ได้ใช้แนวสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ทำให้ปราสาทพระวิหารในแผนที่อยู่ในดินแดนของกัมพูชา โดยที่รัฐบาลไทยในขณะนั้นไม่ได้รับรองหรือทักท้วงความถูกต้อง
  • พ.ศ. 2479 ไทยขอปรับปรุงเขตแดน แต่ฝรั่งเศสผัดผ่อน
  • พ.ศ. 2482 ไทยขอปรับปรุงเขตแดนกับฝรั่งเศสอีกครั้ง แต่ตกลงกันไม่ได้
  • พ.ศ. 2484 อนุสัญญาโตเกียว ทำให้ดินแดนที่เสียไปเมื่อ ร.ศ. 123 และ ร.ศ. 126 บางส่วน รวมถึงปราสาทพระวิหารกลับมาอยู่ในดินแดนไทย
  • พ.ศ. 2489 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการยกเลิกอนุสัญญาโตเกียวโดยสนธิสัญญาประนีประนอม โดยมีอเมริกา, อังกฤษ และเปรูเข้ามาไกล่เกลี่ย
  • พ.ศ. 2492 ประเทศไทยเข้าครอบครองปราสาทพระวิหาร โดยใช้หลักสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งพรมแดน
  • พ.ศ. 2493 กัมพูชาเป็นเอกราชจากฝรั่งเศส
  • พ.ศ. 2501 กัมพูชาเรียกร้องให้ไทยคืนปราสาทพระวิหาร
  • พ.ศ. 2502 กัมพูชาฟ้องร้องต่อศาลโลก
  • พ.ศ. 2505 ศาลโลกตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ด้วยเสียง 9 ต่อ 3
  • พ.ศ. 2550 กัมพูชาเสนอองค์การยูเนสโก ให้ขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่ยังไม่มีข้อสรุป
  • 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551 นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ ได้ลงนามยินยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ร่วมกับ นายอึง เซียน เอกอัครราชทูตกัมพูชา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
  • 24 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ทางการกัมพูชาปิดปราสาทเขาพระวิหารชั่วคราว หวั่นผู้ไม่ประสงค์ดีเข้าไปทำร้ายชาวกัมพูชาในบริเวณใกล้เคียง
  • 28 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรียุติการดำเนินการตามมติ ครม.ที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาสนับสนุนให้กัมพูชาจดทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ไปจนกว่าคดีจะเป็นที่สิ้นสุด หรือ ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
 ศาลโลกตัดสิน เขมรมีอำนาจอธิปไตยเขาพระวิหาร




ศาลโลกตัดสิน เขมรมีอำนาจอธิปไตยเขาพระวิหาร
มติศาลโลก อ่านคำพิพากษาเขาพระวิหาร ยันมีอำนาจรับตีความตามเขมร ร้องเขตแดนเมื่อปี 2505 ระบุ เขมรมีอำนาจอธิปไตยพระวิหาร สั่งไทยถอนทหาร ตำรวจ ให้ 2 ปท.ไปหารือกันภายใต้การดูแลของยูเนสโก เนื่องจากปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
 
การอ่านคำพิพากษาตีความกรณีพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย กับ กัมพูชา จากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในขณะนี้อยู่ระหว่างที่ นายปีเตอร์ ทอมกา ประธานศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กำลังแถลงถ้อยข้อความยืนยัน ว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศนั้น มีอำนาจในการตีความกรณีนี้ภายใต้ขอบเขตของคำพิพากษาเดิมที่ได้เคยพิพากษาไว้แล้ว โดยจะยึดถือตามแนวการปฏิบัติที่ผ่านมา ในปี พ.ศ 2505 ด้วย เนื่องจากฝ่ายไทย ได้โต้แย้งว่า ศาลโลกนั้น ไม่มีอำนาจตีความในเรื่องความขัดแย้งนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ศาลไม่ถือว่าการพิพากษาปี 2505 นั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการตีความในครั้งนี้ เนื่องจากไม่ถือว่าการตีความครั้งที่ผ่านมาเป็นสัญญา
ขณะที่บรรยากาศที่กระทรวงการต่างประเทศในขณะนี้ เต็มไปด้วยสื่อมวลชนจำนวนมาก จากสำนักต่างๆ ที่เดินทางมารอเฝ้าติดตาม การอ่านคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งในช่วงเวลา 18.20 น. ผู้แทนไทยจากกรุงเฮก ก็จะมีการแถลงถึงความคืบหน้าระหว่างการอ่านคำพิพากษา ก่อนที่ในช่วงเวลา 21.00 น. ทางปลัดกระทรวงการต่างประเทศ โดย นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว จะมีการแถลงสรุปอีกครั้ง พร้อมเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ซักถามด้วย
ศาลโลกชี้เขมรถืออำนาจอธิปไตย-ไทยถอนกำลัง
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ในวันนี้ (11 พ.ย.) หลังจากที่ศาลโลก (ICJ) ออกมาอ่านคำตัดสิน ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เวลาประมาณ 16.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ที่ผ่านมา โดยศาลโลกชี้ว่า กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือที่ดินรอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งการพิจารณาเป็นไปตามกระบวนการสากล และยึดหลักกฎหมายของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ศาลโลกยังระบุอีกว่า ประเทศไทยต้องถอนกำลังทหารออกจากบริเวณอาณาเขตดังกล่าวซึ่งหลังจากนี้จะเป็นกระบวนการต่อเนื่องของศาลปกครองสูงสุดของสหประชาชาติ (UN) นั่นเอง
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมายาวนาน สร้างปัญหาข้อพิพาทและความกังวลให้กับชาวบ้านในพื้นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ศาลโลกชี้ขาดภูมะเขือและผาใกล้เคียง ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปราสาทพระวิหาร การถอนกองกำลังทหารออกไปบริเวณใดบริเวณหนึ่งนั้น ทั้ง 2 ประเทศ สามารถเป็นผู้กำหนดเองได้ เพื่อคงความเป็นธรรมและร่วมกันรักษามรดกโลกอย่างแท้จริง

ศาลโลกอ่านคำพิพากษาพระวิหารแล้ว ยันไม่คลุม4.6ตร.กม.
นายฟิลิป โคปเออร์ นายทะเบียนของศาลโลก ได้อ่านคำพิพากษาเป็นภาษาฝรั่งเศส ระบุ ศาลโลก มีอำนาจรับคำร้องของกัมพูชาครั้งนี้ แต่ไม่สามารถตีความให้แย้งไปจากคำพิพากษาในปี 2505 ได้ เนื่องจาก ในปี 2505 นั้น ศาลโลกได้พิจารณาไว้ชัดแล้วว่า ตัวปราสาทพระวิหารนั้น เป็นของกัมพูชา และฝ่ายไทยก็ได้ยอมรับดังนั้นพื้นที่โดยรอบตัวปราสาทเขาพระวิหารทั้งหมดนั้น จึงตกเป็นของกัมพูชา เนื่องจาก กัมพูชา มีสิทธิ์ที่จะสามารถมีทางขึ้นจากฝั่งกัมพูชาได้ โดยให้ฝ่ายไทยถอนกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งหมดออกจากพื้นที่ดังกล่าวด้วย
อย่างไรก็ตาม คำพากษาครั้งนี้ไม่ได้ครอบคลุมถึงพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร แต่อย่างใด เนื่องจากว่า นายปีเตอร์ ทอมกา ประธานศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ระบุว่า ศาลโลกไม่มีอำนาจในการพิจารณาในพื้นที่ยอดภูมะเขือ และพนมทรัพ ได้ ว่าเป็นของฝ่ายใด เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศ ไม่ได้มีการแสดงตัวเป็นเจ้าของ